ทำความรู้จักอาชีพ มัณฑนากร นักออกแบบตกแต่งภายในอย่างเต็มรูปแบบ
นิยามอาชีพของมัณฑนากร คือ การออกแบบตกแต่งภายในพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายในอาคารโดยการนำความรู้และความคิดในด้านศิลปะ การออกแบบ การผลิตและการตลาดมาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อทำการก่อสร้างให้สำเร็จสมบูรณ์ ซึ่งมัณฑนากรจะต้องดำเนินงานโดยการกำหนดรายละเอียดของส่วนประกอบ จัดวางแผนผังของแบบ รวมทั้งควบคุมดูแลการทำงานของช่างตกแต่งภายใน ตัวอย่างเช่น ออกแบบตกแต่งพื้นที่ภายในอาคาร บ้านพักอาศัย พื้นที่จัดแสดงสินค้าและนิทรรศการต่างๆ รวมไปถึงการจัดภายในตู้แสดงสินค้าของห้างสรรพสินค้า หรือพื้นที่ภายในยานยนต์ ได้แก่ เรือ หรือเครื่องบินรถโดยสาร เป็นต้น… บริการรับฉลุลายเหล็ก เราสามารถร่วมงานกับมัณฑนากรได้
ลักษณะของงานที่ทำ
มัณฑนากร หมายถึง ผู้ที่ทำการคิดและวางแผนการออกแบบตกแต่งภายในอาคาร สถานที่ทำงานหรือบ้านพักอาศัย ซึ่งมัณฑนากรจะต้องทำการดำเนินงานร่วมกับผู้ว่าจ้างในขั้นตอนต่างๆ โดยมีลักษณะงานดังนี้
- ทำการจดบันทึกรายละเอียดสำหรับทำการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างความประทับใจและให้เป็นที่สะดุดตามากที่สุด
- ทำการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้าง และคำนวณงบประมาณราคาที่ต้องใช้สำหรับการดำเนินงานออกแบบตกแต่งภายในทั้งหมด โดยจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพที่เหมาะสมของวัสดุ เพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยและตรงตามเป้าหมายการใช้งานภายในอาคาร
- นำเสนองบประมาณและแบบแผนที่วาด ให้ลูกค้าทำการพิจารณาและแก้ไขดัดแปลงเพิ่มเติม
- หลังจากที่แบบได้รับการแก้ไขจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงจะสามารถส่งแบบต่อไปให้กับช่างเพื่อทำการดำเนินงานตามโครงสร้างที่ได้วางแผนไว้ ตัวอย่างเช่น ช่างเชื่อมเหล็ก หรือช่างไม้ เป็นต้น
- ทำการดำเนินและประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงระบบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างงานออกแบบตกแต่งภายใน
- ให้คำแนะนำและพูดคุยปรึกษากับช่างเกี่ยวกับแบบแผนของงานออกแบบ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานให้ออกมาตรงตามเงื่อนไขสัญญาที่กำหนดไว้
การทำงาน
โดยปกติแล้วการทำงานออกแบบของมัณฑนากร จะต้องปฏิบัติงานภายในรวมไปถึงภายนอกสำนักงาน ซึ่งในการดำเนินงานบางครั้งอาจจำเป็นต้องนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาระยุกต์ใช้เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับงานออกแบบตกแต่งภายในอาคารและสถานที่ ให้มีความสะดวกและง่ายดายมากยิ่งขึ้น
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
คุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถประกอบอาชีพมัณฑนากร ได้แก่
- มีคุณวุฒิการศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการตกแต่งภายใน ระดับปริญญาตรี
- มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นเอกลักษณ์ และมีความรอบคอบในการทำงาน
- มีความสามารถในการนำวัสดุต่างๆภายในประเทศมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
- มีทักษะในการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์งานออกแบบ
- มีระเบียบวินัยในตนเอง และมีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริการทางธุรกิจ
- มีความสามารถในทำงานร่วมกับผู้อื่น สามารถทำงานเป็นทีมได้ รวมทั้งมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน
- มีวิสัยทัศน์ และมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาความสามารถและความรู้ของตนเอง
- ต้องรู้และศึกษาแหล่งข้อมูลสำหรับการซื้อวัสดุและวัตถุดิบต่างๆ
- สามารถออกแบบตกแต่งภายในได้อย่างถูกต้องตามหลักการและตรงตามความต้องการของลูกค้า ทั้งในด้านของความปลอดภัยและงบประมาณราคาที่เหมาะสม
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
โอกาสความก้าวหน้าสำหรับอาชีพมัณฑนากรในภาครัฐบาลนั้น คือจะตำแหน่งจะถูกเลื่อนขั้นขึ้นตามฝีมือและความสามารถของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่สังกัดอยู่ จนอาจเลื่อนได้ถึงตำแหน่งของผู้อำนวยการหากนักมัณฑนากรทำการพัฒนาผลงานได้ดียิ่งขึ้น ส่วนมัณฑนากรอิสระก็สามารถทำการประกอบธุรกิจส่วนตัว และขยายกิจการให้เติบโตได้มากขึ้นได้เรื่อยๆตามความสามาร
ความแตกต่างระหว่างสถาปนิกและมัณฑนากร
สถาปนิก เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการออกแบบการก่อสร้างทั้งภายนอกและภายในตัวอาคาร ที่จำเป็นต้องพิจารณาการออกแบบโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมรวมทั้งรูปแบบของอาคาร ให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับทิศทางของแดดลมฝน สภาพอากาศ และเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งาน ตัวอย่างเช่น การออกแบบพื้นที่สัญจร พื้นที่โล่ง พื้นที่ใช้สอย หน้าต่าง ประตู หรือระยะยื่นของชายคา เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ว่าสถาปนิกจะไม่ได้มีหน้าที่ในการออกแบบวางผังเฟอร์นิเจอร์สำหรับการตกแต่งภายในโดยตรง แต่หลักการจัดวางเฟอร์นิเจอร์พื้นฐานก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรเรียนรู้ไว้เพื่อที่จะสามารถทำการวางตำแหน่งของปลั๊กและสวิทช์ไฟต่างๆ ให้มีความสัมพันธ์กับเฟอร์นิเจอร์และการใช้งานของผู้อยู่อาศัยได้
ส่วนมัณฑนากร เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการออกแบบตกแต่งภายในตัวอาคารต่อจากสถาปนิก โดยจะต้องทำการออกแบบและวางผังสำหรับการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ภายในห้อง การเลือกใช้สี การตกแต่งผนัง การเลือกใช้วัสดุปิดผนัง รวมไปถึงการตกแต่งห้องด้วยวัสดุต่างๆให้มีความสวยงาม ได้แก่ การเลือกใช้พรม โคมไฟ ผ้าม่าน ตู้และเคาน์เตอร์ แต่สำหรับในบางกรณีอาจต้องทำการรื้อเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างภายในให้มีความเหมาะสมกับการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ตัวอย่างเช่น การรื้อฝ้าเพื่อสร้างรูปแบบเล่นระดับ ทำไฟซ่อน หรือรื้อเพื่อสร้างห้องน้ำในรูปแบบใหม่ เป็นต้น การจ้างสถาปนิกให้ทำการออกแบบร่วมกับมัณฑนากรจึงเป็นวิธีที่สามารถลดปัญหา ช่วยให้งานก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ได้ง่ายดาย และรวดเร็วยิ่งขึ้น
ความละเอียดของสเกลงานระหว่างอาชีพมัณฑนากรและสถาปนิก
อาชีพมัณฑนากร เป็นอาชีพที่มีหน้าที่ออกแบบงานตกแต่งภายในโดยการรวบรวมและนำความคิดข้อเสนอต่างๆของลูกค้า มาออกแบบให้ได้ผลงานที่ตรงกับความต้องการและเกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุด จึงเป็นงานที่มีความละเอียดของสเกลงานมากกว่าสถาปนิก ยิ่งถ้าหากเป็นงานออกแบบตกแต่งภายในบ้านเรือนแล้ว รูปแบบของงานมักจะต้องการความละเอียดอ่อนมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาได้ตรงกับรสนิยมส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยมากที่สุด
ส่วนอาชีพสถาปนิก เป็นอาชีพที่มีหน้าที่ออกแบบอาคารโดยการสอบจากถามความต้องการ รวมทั้งจุดมุ่งหมายการใช้งานจากนายจ้าง แล้วจึงนำมาออกแบบสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมามีความเหมาะสมต่อผู้ใช้อาคารมากที่สุด ซึ่งในการออกแบบสถาปนิกจะต้องพิจารณาทั้งในด้านของประโยชน์ใช้สอย ความสวยงาม และทิศทางของลมแดด หลังจากนั้นจึงจะทำการนำเสนอผลงานแก่ลูกค้าและนำไปพัฒนาทำแบบก่อสร้างต่อไป ในขั้นตอนสุดท้ายสถาปนิกจะต้องนำแบบขอนุญาติ ที่ประกอบด้วยแบบสถาปัตยกรรมและแบบวิศวกรรมโครงสร้างไปยื่นขออนุญาตปลูกสร้างกับทางราชการ แล้วจึงจะสามารถทำการก่อสร้างได้โดยทำงานร่วมกับทีมวิศวกรที่มีหน้าที่ในการออกแบบและคำนวณสัดส่วนโครงสร้างให้สำหรับงานก่อสร้าง
ในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง จนส่งผลให้อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบด้านการเงินที่ต้องนำมาใช้ในการลงทุนก่อสร้าง ผู้ประกอบอาชีพด้านการออกแบบจึงต้องทำการเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อออกแบบสร้างสรรค์ผลงานให้มีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ หรือของเล่นอุปกรณ์การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เป็นต้น