อุตสาหกรรมเหล็ก มีความสำคัญมาก ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
อุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็คือ อุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากเหล็กมีความจำเป็นต่อการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีส่วนสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น เพราะฉะนั้นทิศทางของอุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงมีผลต่อความต้องการโดยตรงในการใช้เหล็กในประเทศ
ประเทศไทยมีตลาดเหล็กที่มีศักยภาพที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเกิดจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอื่นๆ ซึ่งกำลังจะทำให้ประเทศกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์เพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก
การบริโภคเหล็กสำเร็จรูปโดยแบ่งตามอุตสาหกรรม
แม้ในประเทศจะมีความต้องการในการใช้เหล็กที่สูง แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต การขาดกระบวนการผลิตเหล็กต้นน้ำ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าเหล็กในปริมาณสูง โดยเฉพาะเหล็กที่มีคุณภาพสูงซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่สูงตาม เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานในการผลิต เช่น เหล็กลวด เหล็กเพลาดำ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนสำหรับรีดเย็นต่อ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยจะต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เป็นต้น
การเติบโตของตลาดเหล็กในภาคเศรษฐกิจ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจของประเทศไทยได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในภาคของอุตสาหกรรมการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการก่อสร้าง และภาคบริการ ส่งผลให้มีความต้องการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหล็กเส้นที่ใช้สำหรับการก่อสร้าง และเหล็กแผ่นประเภทต่างๆ ที่ใช้ในกลุ่มของวงการด้านอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น ทำให้ต้องมีการนำเข้าเหล็กประเภทต่างๆ เพื่อมาใช้ภายในประเทศ อย่างเช่น เหล็ก Billet เหล็ก Slab เศษเหล็ก หรือผลิตภัณฑ์เหล็กประเภท แผ่นเคลือบ แผ่นรีดร้อนและรีดเย็น และอื่นๆ ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเหล็กแผ่นในประเทศหลายรายได้มีการขยายกำลังในการผลิตเพื่อที่จะรองรับแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศ
ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นผู้นำเข้าเหล็กสุทธิ ซึ่งถือว่าเป็นรายใหญ่ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก แต่ยังตามหลังประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาอยู่ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทย ส่งผลทำให้ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นตลาดเป้าหมายของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีและประเทศอื่นๆ ก็ตาม
เนื่องจากมีปริมาณความต้องการที่จะใช้เหล็กที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันนั้น การผลิตกลับไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ดังนั้นตลาดเหล็กในประเทศจึงมีภาวะการผันผวนไปตามตลาดเหล็กโลกทั้งในปริมาณและราคาที่ถูกปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการเหล็กของโลก
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
- อุตสาหกรรมต้นน้ำ คือ อุตสาหกรรมเหล็กพรุน และเหล็กถลุง ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระบวนการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเหล็กที่มีความสำคัญมากต่อศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปัจจุบันสำหรับประเทศไทยยังไม่มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำขึ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นแนวทางในการพัฒนาจะถูกกำหนดโดยความต้องการของตลาดภายในประเทศมากกว่าถูกกำหนดโดยนโยบายจากภาครัฐ ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กถูกเริ่มต้นการพัฒนาจากปลายน้ำมากกว่าเริ่มต้นพัฒนาจากอุตสาหกรรมต้นน้ำ เพื่อที่จะใช้ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
- อุตสาหกรรมกลางน้ำ เป็นขั้นตอนที่นำผลิตภัณฑ์จากการผลิตขั้นต้น ทั้งในส่วนที่เป็นของแข็ง ของเหลว และเศษเหล็ก มาหลอมเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติและส่วนผสมทางเคมีให้ออกมาเป็นเหล็กกล้า สำหรับในประเทศไทยผู้ผลิตขั้นกลางทุกรายจะใช้การผลิตด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า โดยจะใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต นอกจากการผลิตเหล็กกล้าแล้วในอุตสาหกรรมขั้นกลางยังมีการหล่อเหล็กกล้าให้เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ เหล็กแท่งใหญ่ เหล็กแท่งยาว และเหล็กแท่งแบน
- อุตสาหกรรมปลายน้ำ เป็นขั้นตอนของการแปรรูปผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปด้วยกระบวนการต่างๆ ซึ่งได้แก่ การเคลือบผิว การผลิตท่อเหล็ก การรีดเย็น การรีดร้อน การตีเหล็กเพื่อขึ้นรูป และรวมไปถึงการหล่อเหล็ก เช่น เหล็กลวด เหล็กเส้น เหล็กแผ่นเคลือบ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น เป็นต้น ซึ่งจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต่อเนื่อง อาทิเช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมเลเซอร์ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
เหล็กที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต คือ ลวดเหล็กกล้า เหล็กเส้นก่อสร้าง เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนหรือด้วยไฟฟ้า และเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดเหล็กกล้าคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งในบางชนิดมีศักยภาพในการผลิตมากพอที่จะส่งออก แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็อาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงจากสินค้าที่นำเข้ามา โดยเฉพาะจากจีน ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องมีการพัฒนากระบวนการผลิตและต้นทุนมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าเพื่อให้ได้คุณภาพในการส่งออกมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมเหล็กจะเป็นตัวช่วยพัฒนา และเสริมสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติได้ โดยที่อุตสาหกรรมจะต้องมีความสามารถในการต่อสู้กับตลาดเชิงพาณิชย์ และรักษาผู้ผลิตที่มีอยู่ภายในประเทศไว้ให้ได้ โดยอุตสาหกรรมเหล็กที่เข้มแข็งและสามารถอยู่รอด จะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การพาณิชย์ การก่อสร้างภาคอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง และพลังงาน