การเลือกซื้อ เครื่องตัดเลเซอร์ สำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม

การเลือกซื้อ เครื่องตัดเลเซอร์ สำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม

โลกในปัจจุบัน เป็นโลกของการแข่งขัน เป็นยุคที่ผู้บริโภคมีอำนาจสูงสุด เพราะฉะนั้นการครองใจผู้บริโภค จึงเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจก้าวหน้าเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ด้วยการที่จะเช้าไปครองใจผู้บริโภคได้นั้น จะต้องเข้าใจถึงในบริบทของลูกค้า ซึ่งหนึ่งในสิ่งสำคัญก็คือ การบริการ

การบริการ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดที่สังคมให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากกว่าเรื่องของราคา เนื่องจากราคาจะสามารถเปรียบเทียบกับทางสถิติตัวเลขได้ชัดเจนกว่า ซึ่งการบริการยังเป็นเรื่องของจิตสำนึกในการขาย ในเรื่องของพันธกิจ นโยบาย หรือ ความรับผิดชอบต่อลูกค้า เพราะหากบริษัทผู้ขาย ไม่มีสำนึกในด้านนี้ จะมีผลกระทบต่อลูกค้าในระยะยาว เช่น กรณีที่ลูกค้าซื้อเครื่องจักรในราคาที่ถูก แต่หลังจากใช้งานไปได้สักระยะหนึ่ง เครื่องเกิดมีปัญหา และได้รับการแก้ปัญหาที่ล่าช้า การให้บริการที่ไม่มีความพร้อม ทั้งบุคคลผู้ให้บริการ (ช่าง) เครื่องมือ อะไหล่ ฯลฯ ก็จะทำให้งานเกิดการชะงัก ส่งผลเสียทั้งโอกาสและรายได้ อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของลูกค้า

ปัญหาส่วนใหญ่ที่ได้รับแจ้งมักจะมีประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ซื้อแล้ว ทำงานไม่ได้ตามที่โฆษณา (สเปคเครื่องสามารถทำได้ แต่เมื่อลงมือทำงานจริงกลับไม่สามารถทำได้)
  2. เครื่องมีปัญหาจุกจิก ทำให้ใช้งานไม่ได้อย่างเต็มที่ (เนื่องจากเสียบ่อยมาก ทางฝ่ายให้บริการเองก็ไม่มีการจัดคิวมาดูแล)
  3. เครื่องที่ส่งมาไม่ใช่เครื่องใหม่ เป็นเครื่องโชว์ หรือเครื่องย้อมแมว (โดยนำเครื่องเก่ามาขายแล้วโมเป็นเครื่องใหม่ให้ลูกค้า หรือตอนคุยกันแจ้งไว้ว่าเป็นเครื่องใหม่ แต่พอตอนส่งกับส่งเครื่องโชว์มาให้ เพราะทั้งบริษัทมีตัวเดียวคือตัวโชว์)
  4. เครื่องเสีย ไม่มีอะไหล่เปลี่ยน หาอะไหล่ไม่ได้ หรือรออะไหล่นานหลายสัปดาห์ (ไม่มีสต๊อคอะไหล่ไว้ ต้องรอส่งจากต่างประเทศเป็นเดือน)
  5. ช่างไม่มีความรู้ หรือไม่ค่อยมีประสบการณ์ ทำให้วิเคราะห์อาการเสียไม่ถูกจุด (ทำให้เสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน ซื้ออะไหล่ไปเรื่อยๆ จนเจอจุดที่เสีย)

สำหรับที่ไชยเจริญเทคของเรา โรงงานเราใช้เครื่องจักรส่วนใหญ่จาก บริษัท bystronic ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องจักรกลของต่างประเทศ มีมาตรฐานการผลิตที่ยอดเยี่ยม สามารถเชื่อถือและไว้ใจได้

การเลือกซื้อ เครื่องตัดเลเซอร์ สำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม

เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวทางหรือหลักการสำคัญในการเลือกซื้อเครื่องตัดเลเซอร์ดังนี้

ก่อนซื้อเครื่อง

  1. สอบถามข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งเรื่องของราคา การบริการหลังการขาย การใช้งาน วิเคราะห์ต้นทุน และการนำไปใช้งานให้ละเอียด โดยผู้ขายต้องอธิบายอย่างชัดเจนไม่คลุมเคลือ เช่น แจ้งว่าตัดเหล็กได้ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องใช้แก๊สร่วมด้วย หรือ ในแก๊ส 1 ถังสามารถตัดได้ กี่ชิ้น ต้นทุนอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ เนื่องจากพอไปทำงานจริง ราคาต้นทุนดันสูงจนทำไม่ได้ ทำให้ซื้อเครื่องมาแล้วทำงานไม่ได้ หรือ อะไหล่สิ้นเปลืองราคาเท่าไหร่ ใช้งานได้นานแค่ไหน เพราะการซื้ออุปกรณ์สิ้นเปลืองเพียงไม่กี่ครั้ง ค่าใช้จ่ายสูงกว่าราคาเครื่องอีก
  2. พยายามอย่าจองเครื่องในงาน แม้ผู้ขายจะให้ราคาหรือโปรโมชั่นที่น่าสนใจก็ตาม ให้ระลึกไว้เสมอว่า หลังงาน ราคาและโปรโมชั่นก็ยังคงเดิม เครื่องจักรเป็นสินค้าเฉพาะ จึงไม่ต้องแย่งชิงกันถึงแม้ว่าจะมีเหลือเพียงตัวเดียวก็ตาม เพราะอย่างไรผู้ขายก็ยังต้องสั่งเพิ่มเข้ามาขายอีกอยู่ดี
  3. อย่าสนใจเพียงสเปค ที่ได้เห็นจากโบรชัวร์และเว็บไซด์ หรือดูจากการจัดสถานที่ในงาน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถตกแต่งข้อมูลรูปภาพเพิ่มได้ ควรไปดูสถานที่จริงถึงบริษัทผู้ขาย เพื่อวิเคราะห์ว่าบริษัทนั้น ตั้งอยู่ที่ใด มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือมากขนาดไหน
  4. อย่าเพิ่งตัดสินใจซื้อจากสินค้าตัวอย่าง เพราะผู้ขายอาจใช้เครื่องคุณภาพสูงกว่าเครื่องขายมาใช้ในการทำตัวอย่าง ซึ่งเครื่องที่ขายอาจทำไม่ได้ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ให้ทดสอบจริงที่เครื่องที่จะซื้อ โดยนำสินค้าและวัสดุที่ต้องการ ไปทำการทดสอบจริงกับเครื่องรุ่นที่ต้องการซื้อ เพื่อให้เห็นกับตาว่าเครื่องสามารถทำงานได้จริง
  5. เมื่อตัดสินใจซื้อแล้ว ควรถ่ายรูปเครื่องที่ทำการทดสอบไว้ และเครื่องที่ผู้ขายแจ้งว่าจะส่งมาให้ หากเครื่องที่จะซื้อมีหลายตัวให้ถ่ายหลายๆ จุด รวมถึง series number ของเครื่อง เพื่อป้องกันการนำเครื่องย้อมแมว หรือเครื่องโชว์มาส่ง ซึ่งไม่ใช่เครื่องใหม่ หรือเครื่องที่ทำงานได้ตรงตามวัตถุประสงค์
  6. ควรมีหนังสือสัญญาที่เป็นทางการ หากมีการสั่งซื้อ โดยให้ระบุถึง การบริการหลังการขาย อุปกรณ์ ของแถม ฯลฯ ตามที่ตกลงไว้ให้ชัดเจน (ระวังการแจ้งว่าบริการทั่วประเทศ แต่พอเรียกเซอร์วิซ คิดค่า เดินทาง ค่าที่พัก ถ้าฟรี ต้องระบุให้ชัดเจน)

หลังซื้อเครื่อง

ปัญหาที่เกิดหลังจากซื้อเครื่อง มักพบในช่วง 6 เดือนหลังจากส่งมอบ เนื่องจากเป็นเครื่องใหม่ ช่วงแรกๆ จึงยังไม่เกิดอาการใดๆ ปรากฎให้เห็น เพราะฉะนั้น ช่วงแรกที่ได้เครื่องมา ให้ทำการทดสอบให้ครบถ้วนด้านเทคนิคต่างๆ เพื่อดูความสามารถของเครื่องให้ครบทุกด้าน เช่น เครื่องตัดเหล็กหนาได้ถึง 10 มม. แต่งานที่ใช้มีเพียง 5 มม. ก็ควรหาชิ้นงานที่หนา 10 มม. มาทดสอบ เพื่อให้เห็นว่าสามารถทำได้จริงตามที่แจ้ง เพราะหากในอนาคตต้องการใช้กับงานหนา 10 มม. แล้วเครื่องไม่สามารถทำได้ ผู้ขายอาจโบยความผิดมาที่ผู้ซื้อว่าทีแรกสามารถทำได้ แต่ตอนนี้เครื่องเก่าแล้วไม่สามารถทำได้ ภาระก็ตกเป็นของผู้ซื้อโดยปริยาย

ปัญหาการบริการหลังการขาย ถือเป็นปัญหาใหญ่ สำหรับธุรกิจเครื่องจักรก็ว่าได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่มีอะไรการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า บริการหลังการขายจะเป็นไปตามที่ตกลงไว้ แต่สามารถที่ขะวิเคราะห์จากหลักการและเหตุผล ที่เป็นตรรกะได้พอสังเขป อย่างเช่น การขายราคาที่ต่ำกว่าราคากลางมาก เพราะบางบริษัท ตั้งราคาขาย โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้นกับการบริการหลังการขาย จึงได้ราคาเสนอที่ถูกมาก แต่พอเกิดปัญหาขึ้นกับเครื่อง ก็ไม่สามารถให้บริการได้ เพราะหากให้บริการไปก็จะขาดทุน ซึ่งผู้ขายประเภทนี้มักจะขายสินค้าในเชิงขายขาด โดยจะแฝงคำหลอกลวงว่าจะมีบริการหลังการขาย

แต่ในกรณีของเครื่องที่ซื้อมาแล้วทำงานไม่ได้ตามที่ตกลงไว้ หรือ การบริการไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ เกิดความล่าช้า เสียหายต่อลูกค้า ซึ่งลูกค้าไม่เรียกร้องอะไรได้ นอกจากทะเลาะกับผู้ขาย และแบกรับภาระเครื่องเอาไว้ ซึ่งทำให้ผู้ขายก็ลอยตัวไป ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ได้เงินแล้ว ยังไม่ต้องบริการอีกต่อไป ซึ่งกรณีนี้ เกิดขึ้นบ่อยมาก ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ทราบสิทธิ์ของตนเอง ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง จึงมีแนวทางในการดำเนินการมาให้นำเสนอให้ผู้ซื้อได้ทราบดังต่อไปนี้

  1. อ้างจากหนังสือสัญญา ทั้งด้านเทคนิค หรือการบริการ ที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ โดยแจ้งหนังสือที่เป็นเอกสาร ถึงบริษัทผู้ขาย และทำการแจ้งความกับเจ้าพนักงานที่สถานีตำรวจ ในคดี สคบ. ได้ทันที
  2. ทำหนังสือแจ้งโดยตรงต่อกับทาง สคบ.
  3. กรณีที่มีการผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน ท่านสามารถนำหลักฐานการแจ้งความ ไปยื่นต่อสถาบันการเงิน เพื่อชะลอ หรือ พักการชำระค่างวดได้ และสามารถแจ้งความประสงค์ ที่จะขอคืนเครื่อง เปลี่ยนเครื่องใหม่ ขอเครื่องยืมใช้ระหว่างรอซ่อม เรียกค่าเสียหาย ฯ ได้ ในกรณีผู้ขายทำผิดสัญญา แล้วทางผู้ซื้อประสงค์จะขอคืนเครื่อง ทางผู้ขาย ต้องมีการเซ็นต์สัญญากับทางสถาบันการเงิน ในการรับคืน ซึ่งทางสถาบันการเงิน จะเป็นเหมือนตัวแทนของลูกค้าในการเจรจายุติ ไม่ให้ลูกค้าเสียเปรียบได้
  4. นำเรื่องขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรม ในชั้นศาล

จะเห็นได้ว่า ในทางปฏิบัติ ลูกค้ามีสิทธิตามกฎหมายในการโต้ตอบผู้ขายอย่างชัดเจน ในการณีผู้ขายผิดสัญญา อย่างเต็มที่  แต่ในความเป็นจริง ผู้ซื้อส่วนใหญ่ มักจะไม่ทราบถึงสิทธิของตนเอง และไม่ต้องการมากความ เพราะจะทำให้เสียทั้งเวลาและความรู้สึก แต่หากการเจรจาไม่เป็นที่พอใจ หรือไม่มีข้อยุติ เช่น รับปากว่าจะมาซ่อม แต่ก็มาบ้าง ไม่มาบ้าง หรือดึงเวลา ผู้ซื้อควรที่จะใช้สิทธิอันชอบธรรมดำเนินการให้เด็ดขาด เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้ขายได้มีจิตสำนึกในหน้าที่ และจรรยาบรรณในการบริการมากขึ้น