โครงสร้างตัวถัง และโครงสร้างรถยนต์ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
โครงรถคือ โครงของรถยนต์ที่ใช้เป็นรากฐานสำหรับการสร้างรถยนต์ โดยจะต้องมีความแข็งแรงเพื่อรองรับในส่วนของตัวถัง ซึ่งโครงรถนั้นจะประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ กระปุกเกียร์ เพลา เพลาขับ สปริง ล้อ และยาง โดยจะต้องมีการยึดติดกับโครงรถด้วย โครงสร้างของตัวถังรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งธรรมดาหรือรถบรรทุกในปัจจุบัน สามารถแบ่งตามลักษณะออกเป็น 2 ประเภทได้ ดังนี้
1. Fram (โครงรถ)
ลักษณะโดยทั่วไปของโครงรถคือ การนำเอาเหล็กรางตัวยู 2 อันมาเชื่อมประกอบกันให้เกิดเป็นโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นรูปกล่อง อาจจะมีการใช้หมุดย้ำเพิ่มและมีเหล็กขวาง โดยจะใช้เป็นวัสดุแบบเดียวกันในการเชื่อมติดหรือยึดติดก็ได้ เพื่อให้โครงรถเกิดความแข็งแรงยิ่งขึ้น ส่วนข้างของโครงรถนั้นจะมีแผ่นเหล็กยื่นออกมาเพื่อใช้ยึดให้ติดกับส่วนตัวถัง บริเวณโครงรถด้านหน้าทั้งหมดจะแคบกว่าด้านหลัง เพื่อให้การหันเลี้ยวได้ง่าย ส่วนด้านหลังที่ต้องกว้างกว่าเพื่อที่จะรองรับตัวถังได้ดี
Type of frame (ชนิดโครงรถ)
- แบบขั้นบันได โครงรถแบบนี้จะมีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยม จะไม่มีเครื่องยึดที่ศูนย์กลาง แต่จะมีเหล็กขวางเพิ่มขึ้นแทน เพื่อใช้ยึดเหนี่ยว ทำให้โครงของรถแข็งแรงขึ้น
- แบบตัวเอ็กซ์ โครงรถแบบนี้จะมีท่อกลวงอยู่บริเวณกึ่งกลางของโครงรถ สำหรับโครงของรถจะใช้เหล็กตัวยูในการเชื่อมประกบให้เป็นรูปกล่อง บริเวณด้านหน้าจะมีเหล็กขวางสำหรับช่วยยึดติดกับโครงรถเอาไว้เพื่อยกระบบรองรับ ส่วนหลังจะสูงเพื่อให้เหมาะกับส่วนท้ายของเพลา
- แบบออฟเซท โครงรถแบบนี้จะมีลักษณะแบบขั้นบันได และไม่มีเครื่องยึดที่ศูนย์กลาง โดยจะมีเหล็กขวางเพิ่มขึ้นเพื่อให้ช่วยยึดเครื่องทำให้โครงของรถแข็งแรง นอกจากนี้จะมีแผ่นเหล็กเชื่อมยื่นออกไปทางด้านข้าง เพื่อใช้ยึดกับตัวถังของรถ
- แบบออกเซทและตัวเอ็กซ์ โครงรถแบบนี้จะเป็นแบบผสมระหว่างแบบออฟเซท์กับตัวเอ็กซ์ ลักษณะจะคล้ายกับการนำเอาโครงรถแบบออฟเซทมาใช้ และบริเวณตรงกลางใช้เหล็กเชื่อมในลักษณะแบบตัวเอ็กซ์ ซึ่งยิ่งจะทำให้โครงรถแบบนี้แข็งแรงขึ้น
2. Auto Body (ตัวถัง)
ตัวถัง คือการนำเอาส่วนประกอบที่เป็นชิ้นส่วนโลหะที่ถูกออกแบบขึ้นมา มาประกอบรวมกันจนกลายเป็นอันหนึ่งเดียวกัน โดยใช้วิธีการเชื่อมหรือหมุดย้ำ เพื่อให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น
รถยนต์ที่มีโครงสร้างของตัวถังและโครงรถรวมเป็นโครงเดียวกันนั้น หมายถึง การนำเอาชิ้นส่วนโลหะทั้งหมดมาเชื่อมยืดติดกันให้เป็นตัวถังขึ้น ซึ่งทำให้ทั้งโครงตัวถังมีความแข็งแรง สำหรับในส่วนประกอบของพื้นใต้ท้องรถ และรางด้านข้าง รวมไปถึงเครื่องรองรับที่อยู่ข้างล่างของตัวถังยึดรวมกัน เพื่อที่จะใช้รองรับเครื่องยนต์ กำลังส่ง และระบบของการรองรับน้ำหนัก อีกทั้งรางทางด้านข้างคือ รางของขอบประตูที่มีเหล็กขวางจำนวนมากเป็นลักษณะแบบรูปกล่อง ซึ่งจะใช้ช่วยกระจายน้ำหนักไปยังโครงสร้างของตัวถังและพื้น นอกจากนี้ ในส่วนโครงสร้างของส่วนด้านหน้าก็มีไว้เพื่อรองรับเครื่องยนต์ และล้อหน้า ส่วนโครงสร้างทางด้านหลังใช้เพื่อรองรับส่วนของล้อหลังและบริเวณเหนือทางด้านข้างขึ้นไป
เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมรถสมัยนี้ ชนแค่เบาๆ แต่ทำไมถึงพังยับ ?
กรณีที่เกิดการชนจนทำให้เกิดการยุบหรือเกิดรอยขึ้น ซึ่งหลายคนมีความเข้าใจผิดว่ารอยยุบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความบอบบาง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่มีรอยย่นยุบมากอาจจะดีกว่าไม่มีรถเลยก็ได้ เพราะประเด็นที่น่าสนใจจะอยู่ที่ตัวถังของรถยนต์ไม่ได้มีความหนาเหมือนรถถัง เมื่อเกิดการชนก็ต้องเกิดรอยยุบแน่นอน แต่การยุบก็ควรจะยุบในส่วนที่ควรจะยุบ และคงสภาพในส่วนที่ไม่ควรจะยุบเช่นกัน
หากลองนึกภาพตามดูจะพบว่าเมื่อรถยนต์ถูกชนจากด้านหลัง จะต้องส่งผลทำให้ตัวถังเกิดการยุบตัวแน่นอน ซึ่งในรถยนต์บางรุ่นสามารถรองรับแรงกระแทกได้มากในบริเวณส่วนเสาไปจนถึงกันชน ทำให้เกิดการยุบตั้งแต่กันชนเข้ามาจนถึงบริเวณล้อหลังและกระจก แต่ในขณะที่ห้องโดยสารยังคงสภาพไม่เสียรูป ประตูก็ยังสามารถเปิดได้ ซึ่งโดยรวมแล้วจากรอยยุบอาจจะดูน่ากลัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารถรุ่นนี้บอบบาง ในทางตรงกันข้าม รถยนต์ประเภทนี้กลับเป็นรถที่ถูกออกแบบมาให้มีการรองรับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ห้องโดยสารคงสภาพที่สมบูรณ์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็หมายความว่าผู้โดยสารก็จะได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด
ในขณะเดียวกัน มีรถยนต์อีกรุ่นที่ถูกชนในลักษณะเดียวกัน แต่ตัวถังในส่วนของเสาหลังจนถึงกันชนมีรอยยุบน้อยมาก แต่แรงกระแทกกับถูกส่งเข้ามาในห้องโดยสารจนเสียรูป ถึงขั้นประตูไม่สามารถเปิดออกได้ หรือในบางกรณีแรงกระแทกอัดจนทำให้ตัวผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ เพราะฉะนั้นหากต้องวิเคราะห์ถึงความปลอดภัยจากการสำรวจรอยยุบของตัวถังให้เน้นว่า ส่วนใดที่ควรหรือไม่ควรยุบ เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าจะไม่เกิดรอยยุบเกิดขึ้นเลย แต่ในส่วนของห้องโดยสารควรจะได้รับแรงกระแทกและยุบตัวน้อยสุด
สามารถสรุปได้ว่าการที่รถยนต์บางรุ่นถูกชนจนบริเวณด้านหน้าและท้ายรถพังยับเยิน หรือมีรอยยุบบุบจนน่ากลัว ไม่ได้หมายความว่ารถรุ่นดังกล่าวจะไม่มีความแข็งแรงทนทาน หรือใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่อาจจะเป็นเพราะตัวถังของรถยนต์บริเวณช่วงด้านหน้า ช่วงห้องเครื่อง และบริเวณด้านท้ายถูกออกแบบและคำนวณให้ยุบ เพื่อที่จะได้ช่วยกระจายแรงกระแทกไปยังบริเวณส่วนอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ห้องโดยสารคงสภาพที่สมบูรณ์ไว้ให้มากที่สุด และตัวผู้โดยสารได้รับแรงกระแทกน้อยที่สุดนั่นเอง