วิธีติดตั้งเพลทหัวเสา สำหรับการทำโครงเหล็กหลังคาบ้าน
สำหรับขั้นตอนการทำโครงหลังคาบ้าน จะต้องทำการติดตั้งเพลทหัวเสาเพื่อเป็นตัวเชื่อมยึดเข้ากับอเสเหล็ก ซึ่งเหล็กเพลทที่นำมาใช้ในการเชื่อมปิดหัวเสานี้ ควรจะมีขนาดของแผ่นเหล็กเพลทเล็กกว่าพื้นที่หน้าตัดเสา เนื่องจากการอุดหัวเสาใต้เพลทนั้นจะต้องเทกรอกปูนลงไปภายในช่องว่างที่เหลืออยู่ ถ้าหากแผ่นเหล็กเพลทมีขนาดเท่ากับพื้นที่หน้าตัดเสา จะส่งผลให้การกรอกปูนเพื่ออุดใต้เพลททำได้ยาก รวมทั้งอาจทำให้คอนกรีตหัวเสาที่อยู่บริเวณใต้แผ่นเหล็กเพลทเกิดเป็นโพรงได้
วิธีการติดตั้งเพลทหัวเสาสามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแค่นำเหล็กเส้นมาดัดให้มีลักษณะเป็นรูปตัวเชื่อมเหล็กตัวยูทั้ง 2 ตัว ซึ่งเหล็กเส้นที่ใช้จะต้องมีขนาดเท่ากับรูของเหล็กเพลท เมื่อดัดเสร็จแล้วจึงจะนำเหล็กเส้นติดไว้บริเวณใต้แผ่นเพลทไว้ก่อนเพื่อรอเข้าสู่ขั้นตอนการเชื่อม โดยในขั้นตอนการเชื่อมนั้น จะต้องทำการเชื่อมให้เต็มขนาดความกว้างของรูปตัวยูเพื่อให้เหล็กเพลทยึดติดได้แน่นและจะไม่สามารถหลุดได้ในภายหลัง
เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเชื่อม จะต้องทำการกำหนดระดับความสูงของเพลทรวมทั้งทำการจัดตำแหน่งเพลท โดยให้บริเวณจุดศูนย์กลางเพลทอยู่ตรงกับกับจุดศูนย์กลางของเสาหรือ Grid line เมื่อกำหนดความสูงและจัดตำแหน่งได้เรียบร้อยแล้วจึงทำการเชื่อมยึด โดยการประคองเพลทไว้กับเหล็กแกนเสา ซึ่งการป้องกันเพลทเอียงระหว่างการเชื่อมนั้น สามารถใช้ระดับน้ำเข้ามาช่วยในการเช็คระดับหลังเพลทให้ตรงได้
เหล็กเพลทหัวเสาจำเป็นต้องมีไหม?
เหล็กเพลทหัวเสาในงานก่อสร้างนั้นจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าหากมีก็จะสามารถดำเนินงานได้สะดวกมากกว่า เพราะนอกจากเหล็กเพลทจะเป็นตัวช่วยสำหรับการทำระดับโครงหลังคาและช่วยกระจายแรงได้แล้ว ยังเป็นตัวช่วยที่ทำให้ช่างสามารถทำการเชื่อมเหล็กเส้นติดกับเหล็กกล่องได้ง่าย เรียบร้อยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
บ้านในสมัยก่อนนั้น มักถูกออกแบบให้โครงสร้างเหล็กสามารถรับกับกระเบื้อง รวมทั้งทำการติดตั้งคานคอนกรีตรัดหัวเสาทุกต้นไว้เพื่อป้องกันการแยกออกจากกัน แต่ต่อมางานก่อสร้างบ้านได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยการนำเหล็ก double c เข้ามาทำหน้าที่เป็นคานแทนคานคอนกรีตรูปแบบเก่า ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีที่อาจมองดูแล้วไม่มีปัญหา แต่ในความเป็นจริงนั้นการใช้เหล็ก double c มาแทนคานคอนกรีต สามารถส่งผลให้ผนังที่ถูกก่อขึ้นจากอิฐเกิดการแตกที่บริเวณมุมต่อเสากับผนังได้ เนื่องจากการต่อเชื่อมกันระหว่างเหล็กกับเสาคอนกรีตไม่สามารถถูกเชื่อมให้เป็น rigid เมื่อจั่วรับน้ำหนักมากขึ้นจึงเกิดแรงกระทำทางด้านข้างจนส่งผลให้ปลายเสาแยกออกจากกัน
ในกรณีดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ โดยหากเป็นคานเหล็กควรทำการเสียบเหล็กฉากไว้ในเสา 2-3 ท่อน ให้มีความลึกระดับหนึ่งขณะที่ทำการเทใหม่ แล้ววาง plate ลงสำหรับเชื่อมเข้ากับเหล็กฉาก สุดท้ายจึงจะวางคานหรือเหล็กจันทัน
หลังจากเสร็จสิ้นการติดตั้งเพลท
หลังจากที่เพลทถูกติดตั้งเรียบร้อยแล้ว จะต้องทำการเข้าแบบและอุดเสาโครงสร้างบ้านด้วยวิธีการเทปูนลงให้เต็มบริเวณใต้เพลท ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะสามารถทำได้โดยการเทกรอกปูนลงให้เต็มบริเวณขอบแผ่นเพลทจากด้านบนที่มีช่องว่างด้วยปูนเกราท์ หรือ Non-Shrink Grout จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้ปูนแข็งตัวแล้วจึงจะสามารถแกะไม้แบบออกได้ โดยเมื่อไม้แบบถูกแกะออกมาแล้ว ปูนที่หล่อไว้จะต้องถูกอุดเต็มเพลทและไม่มีโพรงเกิดขึ้น
เหตุผลที่ปูน Non-Shrink ถูกเลือกมาใช้ เนื่องจากเป็นปูนชนิดผงสำเร็จรูปที่สามารถนำมาใช้งานได้ง่าย เพียงแค่ผสมปูนผงเข้ากับน้ำเปล่า และยังเป็นปูนที่ให้เนื้อที่มีความเหลวค่อนข้างมาก จึงสามารถใช้เทลงไปบริเวณใต้แผ่นเพลทได้อย่างทั่วถึง โดยไม่มีรูโพรงเกิดขึ้น มากกว่านั้นปูน Non-Shrink ยังมีคุณสมบัติที่สามารถรับแรงกดอัดได้มากกว่าคอนกรีตธรรมดาทั่วไป อีกทั้งเป็นปูนชนิดที่ไม่หดตัว ช่วยลดการแตกร้าวในการเทปูนได้อีกด้วย
ส่วนเหตุผลที่คอนกรีตแบบปกติไม่ถูกผสมมาใช้สำหรับงานอุดหัวเสา เนื่องจากคอนกรีตมีลักษณะเนื้อที่ไม่เหลว ทำให้เมื่อเทลงไปบริเวณใต้เพลทแล้ว คอนกรีตไม่สามารถไหลเข้าไปในช่องว่างที่มีพื้นที่คับแคบได้อย่างทั่วถึงจนอาจมีรูโพรงเกิดขึ้นได้ และถ้าหากผสมคอนกรีตให้มีลักษณะเนื้อที่เหลวมาก ก็จะเป็นการลดความสามารถและประสิทธิภาพในการรับแรงกดอัดของคอนกรีตให้ต่ำลง
วิธีการทั่วไปในการใช้แผ่นเพลทหรือเพลทหัวเสา
- สำหรับงานที่ต้องการความแข็งแรง หรืองานที่ต้องรับน้ำหนักและแรงกดค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่มักนำ J-Bolt มาทำการฝังลงไปในเสา ตัวอย่างเช่น เสาในอาคารสูงหรืออาคารโรงงาน เป็นต้น ซึ่งเสาที่ถูกนำมาติดตั้งโครงหลังคาต้องมีขนาดพื้นที่หน้าตัดกว้างมากพอที่จะติดตั้งเพลทได้ แล้วจึงทำการอัดปูนเกร๊าท์ลงไปบริเวณช่องใต้เพลท โดยแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมด เสาคอนกรีตเสริมเหล็กจะไม่ทำการรับแรงเหล่านั้นโดยตรง แต่จะรับต่อมาจากตัว J-Bolt ที่ถูกฝังเอาไว้อีกทีหนึ่ง
- การติดตั้งเพลท เริ่มจากการเจาะรูเพื่อให้เหล็กเส้นสามารถโผล่ออกมาได้ ก่อนที่จะกำหนดระดับของเพลทรวมทั้งหาระดับของเสาทุกต้น เชื่อมยึดเหล็กเส้นติดกับเพลท แล้วอัดปูนเกร๊าท์ลงไปบริเวณช่องว่างใต้เพลท จากนั้นนำเหล็กรูปตัวซีมาเชื่อมรวมติดกันให้พออยู่ตัวและนำเหล็กฉากสั้นๆมาวางทางด้านข้าง สุดท้ายจึงจะทำการเชื่อมยึดให้แน่นต่อไป
Plate โดยทั่วไปจะมีขนาดและความหนา ดังนี้
- ขนาด 4 x 4 นิ้ว หนา 4.0 หรือ 6.0 มิลลิเมตร
- ขนาด 6 x 6 นิ้ว หนา 4.0, 0 มม. หรือ 9.0 มิลลิเมตร
- ขนาด 8 x 8 นิ้ว หนา 4.0, 0 , 9.0 มม. หรือ 12.0 มิลลิเมตร