ความหมายของ คำศัพท์งานก่อสร้าง และการออกแบบที่น่ารู้
เหล็กเพลทหัวเสา หมายถึง แผ่นเหล็กที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวช่วยกระจายน้ำหนัก สำหรับงานหลังคาเหล็กและงานโครงสร้างหนักที่ต้องการความแข็งแรง ได้แก่ โรงเรียน โรงงาน รวมไปถึงอาคารต่างๆ ซึ่งแผ่นเหล็กนั้นสามารถตัดขนาดได้ตามความต้องการ และมีทั้งรูปแบบเจาะรูและไม่เจาะรู
อเส ในการใช้งานอเสนั้นมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน สถาปนิกและวิศวกรจึงจำเป็นต้องเลือกนำมาใช้งานให้เหมาะสมตามโครงสร้างและรูปแบบบ้าน ซึ่งมีทั้งรูปแบบอเสเหล็กและอเสคอนกรีตเสริมเหล็ก
อเสเหล็ก เป็นอเสที่มีน้ำหนักเบา และช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้างได้เนื่องจากสามารถทำการติดตั้งได้รวดเร็ว อเสเหล็กจึงเป็นที่นิยมและถูกนำมาใช้มากสำหรับงานก่อสร้างในปัจจุบัน โดยในกระบวนการติดตั้งนั้นอเสเหล็กจะถูกเชื่อมเข้ากับเพลทเหล็กและเหล็กเสริมบนหัวเสาเพื่อใช้ในการรัดหัวเสา แล้วจากนั้นจึงจะสามารถเชื่อมจันทันเข้ากับอเสเหล็กได้
จันทัน (Rafter) หมายถึง ส่วนประกอบโครงสร้างหลังคาที่ใช้สำหรับรองรับและถ่ายเทน้ำหนักจากแปไปสู่อเส ซึ่งขนาดของจันทัน ระยะแป และระยะเวลาในการติดตั้งจะขึ้นอยู่กับประเภทโครงสร้างหลังคาที่แตกต่างกัน ได้แก่ โครงสร้างแบบเหล็กรูปพรรณ แบบเหล็กเคลือบกัลป์วาไนซ์ หรือแบบไม้ จึงควรศึกษาข้อมูลหรือปรึกษาวิศวกรเกี่ยวกับการติดตั้งวัสดุมุงหลังคาก่อนทำการก่อสร้าง โดยจันทันสามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ จันทันที่พาดอยู่บนหัวเสาเรียกว่า “จันทันเอก” และจันทันที่พาดอยู่บนอเสเรียกว่า “จันทันพราง”
พุก หมายถึง อุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้สำหรับช่วยยึดตะปูเกลียวคือ น็อตหรือสกรู บนโครงสร้างของพื้นและผนังที่ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุต่างๆ ได้แก่ คอนกรีต คอนกรีตบล็อก คอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐ เช่นอิฐมวลเบาและอิฐมอญ รวมไปถึงฝ้าเพดานและผนังที่ใช้โครงสร้างจากแผ่นไม้อัด แผ่นไม้อัดซีเมนต์ แผ่นยิปซั่ม และแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นต้น โดยพุกจะสามารถเพิ่มแรงยึดเกาะให้แข็งแรงและมากยิ่งขึ้นระหว่างพุกกับตะปูเกลียว รวมทั้งระหว่างพุกกับวัสดุโครงสร้างอื่นๆอีกด้วยส่วนมากมักถูกนำมาใช้งานสำหรับการยึดแขวนสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น การแขวนโคมไฟขนาดเล็กบนฝ้าเพดาน การติดตั้งตงเหล็กเพื่อใช้ยึดไม้พื้นระเบียงบนพื้นคอนกรีต การติดตั้งระแนงไม้เทียมกับโครงเหล็กบนผนังก่ออิฐมวลเบา และการแขวนกระจกเงาบนผนังแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นต้น
ต้องลาย หมายถึง การนำแผ่นโลหะมาฉลุลวดลายลงไป เพื่อใช้ในการประดับตกแต่งหน้าจั่วและเชิงชายของหลังคา รวมไปถึงสถาปัตยกรรมของวัดชาวไทยใหญ่ ตัวอย่างเช่น โบสถ์ ศาลาการเปรียญและวิหาร ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของวัดไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีลักษณะหลังคาแบบ สองคอสามชาย มียอดปราสาทเป็นชั้นๆ และถูกประดับเข้าด้วยแผ่นโลหะต้องลายที่ส่วนมากมักเป็นลวดลายแบบไต หรือไทยใหญ่
ลายสอดสี หมายถึง ภาพจิตรกรรมที่ถูกวาดและพัฒนามาจากภาพสีลายเส้น ซึ่งเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยลายสอดสีนี้ มักถูกนำมาใช้เขียนเพื่อเล่าเรื่องราวลงบนงานครุภัณฑ์ต่างๆ บนกำแพง หรือบนผนังในอาคาร ตัวอย่างเช่น เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา วรรณกรรม ประวัติผู้สร้าง ภาพสามัญชน ภาพราชสำนัก และภาพตกแต่ง เป็นต้น
ลายฉลุ ลายแต่ละแบบจะมีลักษณะแบ่งออกเป็นส่วนๆ และในส่วนของตัวลายจะถูกฉลุออกเป็นช่อง ซึ่งสามารถจัดแบ่งลายฉลุได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ลายฉลุปิดทอง คือ การปิดทองคำเปลวในส่วนที่เป็นตัวลายฉลุ มักใช้สำหรับงานประดับตกแต่งในอาคาร ได้แก่ ฝ้า ไขรา คาน และเสา เป็นต้น
- ลายฉลุซ้อนชั้น คือการเพิ่มมิติให้กับลายฉลุด้วยการนำลายฉลุมาซ้อนเป็นชั้น ส่วนมากจะพบเห็นได้ในส่วนต่างๆของอาคาร ได้แก่ หูช้าง ราวระเบียง และชายคา เป็นต้น
ลายรดน้ำ คือ การนำสิ่งของต่างๆมาเพิ่มความงามด้วยการลงรักและปิดทอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานประณีตศิลป์ที่มักถูกนำมาใช้สำหรับงานตกแต่ง บานประตู หน้าต่าง และครุภัณฑ์ โดยลายรดน้ำนี้ มีกระบวนการเริ่มจากการนำแผ่นไม้มาขัดและรองพื้นด้วยรักสมุกให้เรียบ ทำการปรุลายที่ต้องการเขียนแล้วจึงนำแบบลายปรุนั้นทาบลงบนแผ่นกระดาษ จากนั้นตบด้วยลูกประคบแล้วปิดทองคำเปลวลงไป แต่สำหรับในส่วนที่ไม่ต้องการให้ทองคำติดให้เขียนด้วยน้ำยาหรดาน หลังจากนั้นนำแผ่นกระดาษชุบน้ำมาคลุมปิดไว้สักพักหนึ่งแล้วจึงจะใช้น้ำราด จะทำให้ทองคำเปลวในส่วนที่ทาด้วยน้ำหรดานหลุดออกมาเป็นลายตามที่เขียนไว้
ลายประดับมุก หมายถึง การนำเปลือกหอยมุกมาตกแต่งเป็นลวดลายบนเครื่องเรือนไม้ ซึ่งส่วนมากนิยมใช้เปลือกหอยโข่ง หอยอูด และหอยนมสาว มีกระบวนการเริ่มจากการเลื่อยมุกตามขนาดที่ต้องการเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาวางลงบนลวดลาย ถมช่องว่างระหว่างตัวมุกด้วยรักถมจากนั้นจึงขัดรักให้เรียบ จะทำให้ตัวลายมุกใสและขึ้นเงาเป็นมัน
ลายฉลักหิน หมายถึง งานศิลปะที่ถูกสลักลงบนหิน ณ บริเวณส่วนหน้าบันและส่วนบัวฐาน โดยหินทรายและหินอ่อนเป็นหินที่นิยมนำมาใช้มากที่สุด ซึ่งงานศิลปะลายฉลักหินนี้ได้รับอิทธิพลมาจากขอมและถูกใช้งานมากในสมัยลพบุรี
ลายบุดุล การบุ หมายถึง การนำโลหะมากดทับและตีแผ่ให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามต้องการ ส่วนการดุลนั้น หมายถึง การนำแผ่นโลหะมาทำให้เกิดเป็นรอยนูน ซึ่งวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในงานบุดุล ได้แก่ ทองเหลืองดีบุก เงิน ทองคำ ทองคำขาว ทองแดงและอลูมิเนียม เป็นต้น ส่วนมากจะถูกใช้ทำเครื่องประดับตกแต่ง เครื่องทอง เครื่องราชูปโภคและเครื่องประกอบพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์
ลายหล่อโลหะ หมายถึง การหลอมโลหะให้ร้อนแล้วเทลงในแม่พิมพ์ เพื่อสร้างเป็นรูปทรงต่างๆ ตามที่ต้องการด้วยกรรมวิธีงานปฏิมากรรม ได้แก่ การสร้างรูปสัตว์ในป่าหิมพานหรือพระพุทธรูป เป็นต้น