ทำความรู้จัก ISO 50001 มาตรฐานระบบจัดการด้านพลังงาน
นานาประเทศต่างให้ความสำคัญกับวิกฤตพลังงานกันมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนพลังงานมีการปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มว่าพลังงานจะหมดลง ทางองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization : ISO) ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านพลังงานและให้ความสำคัญในการจัดการพลังงาน จึงได้มีการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System) หรือ ISO 50001 ให้องค์กรต่าง ๆ ได้นำไปใช้ เพื่อที่จะช่วยควบคุมและลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รองรับกับวิกฤตด้านพลังงาน และลดการส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ISO 50001 คืออะไร
ISO 50001 คือ ระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานสากล หรือเรียกอย่างย่อว่า EnMS ระบบแรกในโลกที่พัฒนาขึ้นจากมาตรฐานระดับชาติและภูมิภาคต่าง ๆ มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2011 (ISO 50001:2011) โดยองค์การระหว่างประเทศ ว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization หรือเรียกอย่างย่อว่า ISO) ซึ่งมาตรฐาน ISO 50001 มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้องค์กรดำเนินการปรับปรุงสมรรถนะพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ อื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการพลังงานสำหรับธุรกิจการค้า โรงงานอุตสาหกรรม และองค์กรต่าง ๆ โดยมุ่งหวังในการลดการใช้พลังงานของโลกลงให้ได้ประมาณร้อยละ 60
ประโยชน์ ISO 50001 ต่อองค์กร
- องค์กรมีการดำเนินการด้านการจัดการพลังงานที่เป็นรูปธรรม นำไปปฏิบัติได้จริง ทำให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- สนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านประสิทธิภาพพลังงาน
- เกิดการยอมรับในระดับสากล เป็นการเสริมภาพลักษณ์ให้กับองค์กรในด้าน CSR อีกทางหนึ่ง
- องค์กรควบคุมผู้ส่งมอบที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- องค์กรปรับปรุงการใช้ทรัพยากรด้านพลังงานให้คุ้มค่าต่อการลงทุน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เกิดการลดต้นทุนด้านพลังงานอย่างยั่งยืน ส่งผลให้องค์กรสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด และเป็นการเพิ่มความสามารถในการผลิตกับบริการ
- เกิดการตรวจวัดการใช้พลังงานหรือประสิทธิภาพของเครื่องจักรอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะเฝ้าติดตามหรือควบคุมให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม
- เกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมในการควบคุมและอนุรักษ์พลังงานในงานทุกระดับ อันเป็นผลมาจากการมีกำหนดดัชนีชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน เป้าหมายและแผนงานต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานอย่างเป็นระบบ
- เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานขององค์กร โดยบูรณาการเข้ากับระบบการจัดการ ISO 9001 กับ ISO 14001 ที่องค์กรทำอยู่
- เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเกณฑ์มาตรฐานอื่น การวัด การจัดทำระบบเอกสารและการรายงานผล การปรับปรุงด้านการพลังงานและการจัดการ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจก
ประโยชน์ ISO 50001 ต่อพนักงาน
- เกิดการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบทั้งด้านข้อกำหนด ด้านเทคนิค และด้านจิตสำนึกอนุรักษ์พลังงาน
- เพิ่มความรู้ความสามารถให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องปฏิบัติตามระบบจัดการพลังงานที่กำหนดเอาไว้
ประโยชน์ ISO 50001 ต่อประเทศไทยและต่อโลก
- เกิดกลไกในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มเติมจากกลไกอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว
- เกิดการควบคุมการลดใช้พลังงาน และการเปลี่ยนมาใช้พลังงานรูปแบบอื่น ๆ อย่างเป็นระบบและยั่งยืนขององค์กร ส่งผลให้ประเทศลดการนำเข้าพลังงาน และเป็นการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานอีกทางหนึ่ง
ISO 50001:2011 กับหลักการ PCDA
วัตถุประสงค์การจัดทำ ISO 50001:2011 ในประเทศไทยก็คือ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการพลังงาน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดต้นทุนด้านพลังงาน และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ โดยระบบ ISO 50001:2011 สามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรทุกขนาด และสามารถบูรณาการให้เข้ากับระบบอื่น ๆ ได้ โดยต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตามหลักการ PCDA
- การวางแผนพลังงาน (PLAN) : องค์กรดำเนินการทบทวนการใช้พลังงาน จัดทำดัชนีชี้วัดสมรรถนะขององค์กรในด้านพลังงาน และกำหนดแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ได้ผลที่จะปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานให้เป็นไปตามนโยบายพลังงานขององค์กร โดยการวัดและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานและปริมาณการใช้พลังงาน
- การปฏิบัติ (DO) : องค์กรนำแผนปฏิบัติการต่าง ไปปฏิบัติ ซึ่งครอบคลุมถึงการดำเนินการในด้านอื่น ๆ ที่จะทำให้ระบบการจัดการพลังงานมีความยั่งยืนดังนี้ ด้านการออกแบบและการจัดซื้อ สำหรับกระบวนการ เครื่องจักรที่มีนัยสำคัญและมีผลกระทบต่อสมรรถนะพลังงาน รวมถึงการบริการด้านพลังงาน , ด้านการควบคุมการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา เฉพาะกระบวนการหรือเครื่องจักรที่มีนัยสำคัญและมีผลกระทบต่อสมรรถนะพลังงาน , ด้านระบบเอกสาร ซึ่งจะต้องดำเนินการจัดทำเอกสารให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและการควบคุมเอกสาร , ด้านการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร , ด้านพลังงานของคนในองค์กร , ด้านความสามารถ การฝึกอบรมและความตระหนัก
- การตรวจสอบ (CHECK) : องค์กรเฝ้าติดตามและตรวจสอบการดำเนินการรวมถึงแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการกำหนดแผนในการเฝ้าระวังและการตรวจติดตามตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อสมรรถนะพลังงาน ซึ่งในการตรวจสอบยังรวมไปถึงการตรวจประเมินภายในระบบการจัดการพลังงานที่จะต้องทำเป็นประจำทุกปี และหากพบข้อบกพร่องหรือแนวโน้มที่จะเกิดข้อบกพร่อง จะต้องดำเนินการปฏิบัติการแก้ไขและปฏิบัติการป้องกันทันที
- การทบทวน (ACT) : องค์กรดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่พบ เพื่อปรับปรุงสมรรถนะขององค์กรด้านพลังงาน ซึ่งส่งผลให้ระบบมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กรจะต้องดำเนินการทบทวนโดยฝ่ายบริหารทุก ๆ ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบการจัดการพลังงานยังคงอยู่ และมีการปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง