แสงเลเซอร์ ความยาวคลื่นแสง ที่มีผลกระทบกับดวงตา
แสงเลเซอร์ที่มีกำลังสูง ยกตัวอย่างเช่น การนำเอาลำแสงเลเซอร์ไปใช้ในการตัดเหล็กที่มีความแข็ง หรือการแกะสลักเหล็กก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ แต่ด้วยความเข้มข้นสูง มันจึงเป็นตัวการที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้ ซึ่งสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมากที่สุดเมื่อเกิดความผิดพลาด ลำแสงยิงเข้าสู่ดวงตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความไวต่อแสงมากที่สุดในร่างกาย เลนส์แก้วตาที่ทำหน้าที่รวมแสงให้เกิดการโฟกัสบนเรติน่า ยังเพิ่มระดับความเข้มข้นของแสงเลเซอร์ให้สูงมากกว่าเป็น 1 แสนเท่าอีกด้วย แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมามีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ตาบอดได้
หากลองเปรียบเทียบกับการมองแสงอาทิตย์โดยตรงด้วยตาเปล่าเพียงชั่วครู่เท่านั้น ก็จะรู้สึกว่าดวงตามืดสนิทไปชั่วขณะ แต่หากเป็นแสงเลเซอร์ที่มีความเข้มในระดับนี้ แน่นอนว่าอัตราที่จะทำให้เกิดตาบอดเป็นไปได้สูงมาก อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายปัจจัยที่ไม่ใช่แค่เรื่องของความเข้มแสงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความยาวคลื่นแสง และระยะเวลาที่ดวงตาได้รับแสง
ความยาวคลื่นแสงเลเซอร์ กับผลกระทบต่อดวงตา
ปัจจัยในด้าน “ความยาวคลื่นแสง” ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่สำคัญไม่น้อย และเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจ โดยทั่วไปดวงตามนุษย์จะสามารถมองเห็นแสงที่มีความยาวคลื่นได้ในช่วง 400-700 นาโนเมตร แต่ความยาวคลื่นในช่วงอื่น แม้จะมองเห็นได้หรือมองไม่เห็น ก็สามารถส่งผลเสียต่อดวงตาได้เช่นเดียวกัน โดยปกติแสงในช่วง 400-1,500 นาโนเมตร จะเป็นระดับแสงที่สายตามองเห็นได้ ยิ่งเป็นแสงอินฟาเรดที่มองไม่เห็น จะสามารถส่องทะลุจากเลนส์ตาเข้าสู่เรติน่าได้อีกด้วย โดยไม่กำหนดว่าจะมีความเข้มมากน้อยแค่ไหน แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จะทำให้เรติน่าเกิดอันตรายตามมา เปรียบเทียบเช่นเดียวกันกับคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ ซึ่งจะอยู่ในช่วงอินฟราเรดที่ใช้ตัดผ้าหรือเจาะไหม้ได้
ส่วนแสงที่อยู่ในช่วงอัลตราไวโอเลต จะเป็นแสงที่มีความยาวคลื่น 100-400 นาโนเมตร หากกระทบดวงตา จะไม่ทะลุไปถึงชั้นเรติน่า แต่ก็ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อเลนส์ตาส่วนนอกและแก้วตา ร้ายแรงถึงขั้นตาบอดถาวร
ระยะห่างจากแหล่งกำเนิด กับผลกระทบต่อดวงตา
ปัจจัยในเรื่องระยะห่างจากแหล่งกำเนิดแสง ก็มีผลกระทบต่อดวงตาเช่นเดียวกัน หากระยะของแสงเลเซอร์กระทบกับดวงตาในระยะที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็จะต่างกันออกไปด้วย แต่ถึงกระนั้นผลที่เกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดอันตรายไม่แพ้กัน เนื่องจากแสงเลเซอร์มีคุณสมบัติแตกต่างจากแสงอื่นที่สำคัญ คือ แสงจะมีลักษณะเป็นลำค่อนข้างดี จะรวมเป็นโฟกัสเดียวกัน ไม่ค่อยบานออก ส่งผลให้ความเข้มข้นของแสงสม่ำเสมอ แม้จะอยู่ในระยะใดก็ตาม เรียกได้ว่าระยะแทบจะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของความเข้ม กรณีที่แสงเลเซอร์ไปกระทบผิววัสดุที่เกิดความขรุขระ แสงที่สะท้อนจะมีการแปรสภาพลดลำแสงลงไปเล็กน้อย ทำให้เกิดการบานออกไปค่อนข้างเร็ว หากอยู่ห่างจากจุดสะท้อน จะช่วยลดอันตรายจากแสงที่กระทบต่อดวงตาให้น้อยลงได้ แต่หากแสงกระทบกับโลหะเรียบๆ หรือกระจก ความเข้มของแสงเลเซอร์จะยังคงเท่าเดิม แน่นอนวาจะก่อให้เกิดอันตรายตามมาไม่ต่างจากการมองลำแสงตรงๆ แต่อย่างใด
การหลีกเลี่ยงไม่ให้แสงเลเซอร์ส่องกระทบดวงตา
ด้วยอันตรายที่กล่าวไปข้างต้นของแสงเลเซอร์ จึงจำเป็นต้องหาทางหลีกเลี่ยงการมองแสงเลเซอร์ตรงๆ เพราะบางครั้งเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็สามารถเกิดขึ้นได้แม้พยายามหลีกเลี่ยง โดยมักจะพบว่ามันเกิดขึ้นจากการสะท้อนมากระทบดวงตาโดยไม่รู้ตัว เพราะลืมป้องกันตัวสะท้อน ไปจนถึงช่วงของแสงที่ดวงตามนุษย์มองไม่เห็น เพราะฉะนั้น การป้องกันที่ช่วยลดความเสี่ยงควรทำดังต่อไปนี้
- ทำการจัดทางเดินแสงเลเซอร์ให้มีความเหมาะสม เช่น ไม่ให้แสงอยู่ในระดับเดียวกับสายตา อาจเลือกให้สูงหรือต่ำกว่าระดับสายตาจะดีกว่า
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเป็นตัวสะท้อนที่มีอยู่รอบๆ กำจัดมันออกไปให้ห่างจากแนวลำแสง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะท้อนหักเหเข้าสู่ดวงตา
- ใช้เครื่องมือป้องกัน เช่น แว่นตาที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ตัวแว่นจะช่วยลดความเข้มแสงในระดับที่ไม่ส่งผลให้ดวงตาเสียหาย โดยแว่นที่ใช้งานก็จะแตกต่างกันออกไปตามระดับความสามารถในการป้องกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นแสงเลเซอร์ในคลื่นความยาวระดับไหน มีความเข้มแค่ไหนด้วย จะได้ช่วยลดความเข้มของตัวแสงเลเซอร์ให้ปลอดภัยต่อดวงตามากที่สุด
- ให้ระมัดระวังมากขึ้น ถ้าเลเซอร์ที่ใช้งานอยู่ในย่านความถี่ที่ดวงตาไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น ในช่วงอินฟราเรด และอัลตราไวโอเลต หากกระทบดวงตา จะทำให้ตาบอดถาวรได้
ด้วยระดับความเข้มของแสงเลเซอร์ที่เป็นเส้นตรง ส่งผลกระทบอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงความยาวคลื่นที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้นจำให้ขึ้นใจอยู่เสมอว่า เลเซอร์เป็นลำแสงที่มีอันตรายสูง ควรใช้อย่างระมัดระวัง ควรมีการจัดแบ่งห้องให้เป็นสัดส่วน สำหรับใช้งานแสงเลเซอร์โดยเฉพาะ ใช้ป้ายเตือนในบริเวณที่อาจมีแสงเลเซอร์ยิงผ่าน และรอบๆ ห้องที่ใช้งาน เพื่อบอกให้บุคคลทั่วไประมัดระวังไม่เข้าใกล้ ส่วนผู้ที่ทำงานกับแสงเลเซอร์ อย่าคิดว่าป้องกันดีแล้ว ใช้งานด้วยความประมาท มิเช่นนั้นการไม่ระมัดระวัง ก็เท่ากับอันตรายที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม