ปัจจัยทางตรง-ปัจจัยทางอ้อม ที่มีผลกระทบต่อราคาเหล็ก
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาเหล็กโดยตรงคือ ราคาของวัตถุดิบ สภาวะการก่อสร้าง ราคา และความต้องการในท้องตลาดโลก ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบโดยตรง เนื่องจากประเทศไทยมีการแข่งขันในรูปแบบของทุนนิยม จึงสามารถแข่งขันกันได้อย่างอิสระ หากสินค้าถูกผูกขาดจากผู้ผลิตหรือสินค้าเกิดขาดตลาดขึ้นมา ช่วงดังกล่าวทางดีลเลอร์ก็จะปรับราคาขึ้นตามใจชอบเพื่อโกยกำไร แต่เมื่อสินค้าล้นตลาดก็เทขายในราคาที่ต่ำมากๆ ซึ่งในบางครั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้มาในราคาถูก แต่เมื่อนำมาตรวจสอบสภาพกับพบว่าสินค้ามีคุณภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐาน น้ำหนักขาดบ้าง เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังเป็นอย่างมาก อย่าเห็นแก่ของถูกจนเกินไป
ปัจจัยทางอ้อมที่มีผลกระทบต่อราคาเหล็ก
ส่วนปัจจัยทางอ้อมที่มีผลกระทบต่อราคาเหล็ก จะประกอบด้วยข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจคร่าวๆ ดังต่อไปนี้
1. ราคาสินแร่บางประเภทและราคาน้ำมัน
อย่างเช่น ถ่านโค้กที่ใช้สำหรับหลอมเหล็ก สแตนเลส อะลูมิเนียม รวมไปถึงราคาของโลหะทุกชนิดที่มีความเกี่ยวข้องในการผลิตเหล็ก ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้มีราคาแพงขึ้นก็จะส่งผลให้ราคาของเหล็กสูงขึ้นตามไปด้วย
2. สภาวะเศรษฐกิจ
หากเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ดี ธุรกิจการก่อสร้างอยู่ในสภาวะที่เฟื่องฟู ราคาของเหล็กก็จะขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีตก เนื่องจากความต้องการในท้องตลาดมีค่อนข้างมาก
3. ช่วงเทศกาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลที่มีฤกษ์ยามดี อย่างเช่น ปีใหม่ สงกรานต์ หรือตรุษจีน เป็นต้น ช่วงนี้หลายๆ คนจะนิยมสร้างบ้านเพราะถือว่าเป็นมงคล และเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะยกเสา ทำให้ช่วงนี้มีความต้องการเหล็กในท้องตลาดค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเหล็กในช่วงนี้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
4. การขยับตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน
ไม่ว่าจะหดหรือขยายตัวลง ล้วนส่งผลต่อราคาเหล็กให้ขึ้นและลงได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าเป็นในอดีตเศรษฐกิจแทบประเทศทางยุโรปและอเมริกาจะค่อนข้างมีอิทธิพลมาก แต่ในปัจจุบันกลับเป็นประเทศจีนที่มีอิทธิพลและบทบาทเป็นอย่างมากกับราคาเหล็ก ทั้งในภาคพื้นเอเชีย และทั่วโลก
5. มีโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะที่เป็นโครงการของรัฐบาล ราคาเหล็กก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งโดยทั่วไปจะเห็นได้ว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณให้กับทุกโครงการตามแผนเศรษฐกิจที่ได้วางไว้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากมีโครงการที่ใหญ่ เช่น สร้างสนามบิน สถานีรถไฟ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังช่วยสร้างอุปทานการสร้างในท้องถิ่นให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีผลทำให้เหล็กราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
6. สภาพอากาศ
โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน (ย่างเข้าเดือนมิถุนายน) ทำให้มีผลกระทบต่อการก่อสร้าง เนื่องจากหน้าฝน มีฝนตกอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้พื้นที่มีน้ำนอง ฉาบปูนก็แห้งช้า เนื่องจากอากาศชื้นไม่มีแดดส่อง การก่อสร้างก็เป็นไปได้ลำบาก ทำให้หลายโครงการต้องชะลอหรือหยุดชะงักลงในช่วงนี้ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงกลางปี ธนาคารหลายๆ แห่งจะปิดสิ้นงวดกลางปี ทำให้ปล่อยสินเชื่อออกมาค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กลดน้อยลง จึงทำให้เหล็กมีราคาที่ลดต่ำลงในช่วงนี้
7. ลดภาษีนำเข้า
การเปลี่ยนแปลงชุดรัฐบาลอยู่บ่อยๆ นั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อราคาเหล็กแต่อย่างใด เพราะทุกรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้มีการแข่งขันกันแบบเสรีในท้องตลาด แต่หากมีการลดภาษีการนำเข้า ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเมื่อใดรับรองได้ว่าราคาเหล็กลดลงอย่างแน่นอน เพราะเหล็กเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นหลัก
8. ลดการผูกขาดของผู้ค้าเหล็กรายใหญ่
หากลดการผูกขาดของผู้ค้าเหล็กรายใหญ่ๆ ที่จำหน่ายแต่เหล็กเพียงอย่างเดียวให้มากกว่านี้ ราคาเหล็กก็จะลดลงอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากราคาขึ้น-ลงของเหล็กโดยตรง
แน่นอนว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต้องเป็นธุรกิจก่อสร้างอาคารและระบบสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ ร่วมไปถึงโครงการสร้างเขื่อนและโครงการชลประทานต่างๆ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากแต่ละโครงการใช้เหล็กเป็นปัจจัยหลักในกระบวนการสร้าง ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากตารางปัจจัยการผลิต ก็พบว่าธุรกิจก่อสร้างตึกอาคารและระบบสื่อสาร รวมถึงธุรกิจงานก่อสร้างบริการสาธารณะประเภทป่าไม้และการเกษตร อาทิ โครงการชลประทานต่างๆ และการสร้างเขื่อน เป็นการก่อสร้างที่ใช้เหล็กเป็นผลิตภัณฑ์หลักๆ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตโดยตรงของต้นทุนรวม สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่ ธุรกิจที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นต้นทุน เช่น ธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์ และจักรยานซึ่งจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์จากเหล็กเป็นต้นทุนโดยตรง รวมไปถึงธุรกิจตัดเลเซอร์ และเมื่อใดที่ราคาเหล็กบนท้องตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงย่อมก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของการทำธุรกิจเหล่านี้ทั้งสิ้น
หากกล่าวถึงธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็กในท้องตลาด ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กร่วมในการผลิต ซึ่งได้แก่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนสำหรับพาหนะยานยนต์ต่างๆ และธุรกิจผลิตเครื่องจักร ธุรกิจตัดเลเซอร์ ผลิตอุปกรณ์การเกษตร โดยเฉพาะการผลิตเครื่องยนต์ และใบพัด ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยรวมมากที่สุด เนื่องจากสัดส่วนในการผลิตนั้นมีต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการใช้เหล็กเป็นปัจจัยในการผลิต ซึ่งมีทั้งแบบที่กระทบทางตรงและทางอ้อม โดยเมื่อนำสัดส่วนที่ได้มารวมกันก็พบว่ามีสัดส่วนที่เกินกว่าครึ่งของต้นทุนรวมในการผลิต
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงราคาเหล็กอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในทันทีทันใด แต่ขึ้นอยู่กับว่าราคาของปัจจัยการผลิตที่ใช้อยู่นั้นได้มีการปรับราคาขึ้นตามราคาเหล็กที่เปลี่ยนแปลงไปทันทีเลยหรือไม่